มารู้จัก โพรไบโอติก (Probiotics) จุลินทรีย์มีประโยชน์กัน

โพรไบโอติก (Probiotics) เป็นที่รู้จักจากการเป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวและโยเกิร์ตที่วางขายในท้องตลาด แต่คุณทราบหรือไม่ว่า โพรไบโอติกคืออะไร สำคัญอย่างไรต่อสุขภาพ ก่อผลเสียกับร่างกายหรือไม่ แล้วถ้าโพรไบโอติกไม่สมดุลจะเกิดอะไรขึ้น บทความนี้จะพาคุณมาทำความรู้จักกับจุลินทรีย์ตัวจิ๋วกับเรื่องที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน 

หลายคนอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า สุขภาพดีเริ่มต้นได้จากภายในสู่ภายนอก ซึ่งการบริโภคโพรไบโอติกถือเป็นวิธีหนึ่งที่เสริมสุขภาพให้แข็งแรงสอดคล้องกับคำกล่าวในข้างต้น โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน เพราะนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าจุลินทรีย์พวกนี้มีส่วนช่วยปรับสมดุลภายในลำไส้ จึงอาจลดปัญหาท้องผูก ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย เสริมภูมิคุ้มกัน และลดความรุนแรงของโรคเรื้อรังบางชนิด

มารู้จัก โพรไบโอติก (Probiotics) จุลินทรีย์มีประโยชน์กัน

โพรไบโอติก คืออะไร ?

เมื่อได้ยินคำว่า จุลินทรีย์ อาจทำให้นึกถึงเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่พบได้ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นดิน น้ำ พืช สัตว์ หรือแม้แต่ในร่างกายคนเรา จุลินทรีย์มีทั้งชนิดที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษ ซึ่งโพรไบโอติกจัดเป็นเชื้อจุลินทรีย์และยีสต์ในกลุ่มที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อมีอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้ระบบในร่างกายทำงานเป็นปกติ โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกันที่มีส่วนช่วยในการป้องกันหรือรักษาโรคบางชนิด

ในปัจจุบันมีการผลิตโพรไบโอติกออกมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม ไปจนถึงอาหารเสริมหลายชนิด โดยปกติแล้ว จุลินทรีย์แบ่งออกได้หลายกลุ่ม แต่จะมีเพียงบางสายพันธุ์ในบางกลุ่มเท่านั้นที่เป็นโพรไบโอติก

บทบาทของโพรไบโอติกในการดูแลสุขภาพ

การรับประทานผลิตภัณฑ์ประเภทโพรไบโอติกจะส่งผลดีต่อสุขภาพ ด้วยการเข้าไปทดแทนจุลินทรีย์ดีที่ร่างกายสูญเสียไปจากการย่อยอาหารและสาเหตุอื่น เช่น รับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ความเครียด พักผ่อนน้อย การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไป การใช้ยาบางชนิด และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ

เดิมที ระบบการย่อยอาหารในสภาพปกติสามารถกำจัดแบคทีเรีย สารพิษ สารเคมี และของเสียอื่น ๆ ออกจากร่างกายได้เอง แต่เมื่อจุลินทรีย์ชนิดดีลดลง จุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายจึงออกฤทธิ์ได้มากขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารลดลงและทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย และอาการอื่น ๆ ตามมาได้

ดังนั้น การรับประทานโพรไบโอติก (Probiotics) จึงอาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหรือความผิดปกติได้หลายอย่าง เช่น

  • ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ เช่น ท้องเสียจากการติดเชื้อหรือการใช้ยาปฏิชีวนะ โรคลำไส้แปรปรวน และกลุ่มโรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหารเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) 
  • กลุ่มโรคภูมิแพ้ เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ 
  • ฟันผุ โรคปริทันต์ หรือปัญหาเกี่ยวกับช่องปากอื่น ๆ
  • อาการโคลิคในเด็กเล็ก
  • โรคตับ
  • ไข้หวัด
  • ภาวะลำไส้เน่าในทารกที่คลอดก่อนกำหนด

นอกจากประโยชน์ต่อสุขภาพภายในแล้ว โพรไบโอติกอาจช่วยเสริมความแข็งแรงและลดปัญหาผิวหนัง โดยจากการศึกษาที่ใช้โพรไบโอติกเป็นการรักษาเสริม ทั้งรูปแบบรับประทานและแบบทาในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนัง อย่างเป็นสิว โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) โรคสะเก็ดเงิน และเป็นแผลเรื้อรัง พบว่าการอักเสบของผิวหนังที่เกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติและปัจจัยอื่น ๆ ทุเลาลง และยังอาจช่วยให้ผิวดูอ่อนกว่าวัยได้อีกด้วย

ด้วยสรรพคุณสุขภาพเหล่านี้ เราจึงควรใส่ใจในการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติก (Probiotics) ให้มากขึ้น รวมทั้งอาหารที่มีประโยชน์ประเภทอื่น ๆ โดยเฉพาะผักและผลไม้ เพื่อเพิ่มใยอาหารที่ช่วยเสริมการทำงานของเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ซึ่งการบริโภคอย่างต่อเนื่องเป็นประจำอาจช่วยให้ร่างกายแข็งแรงจากภายในสู่ภายนอก เมื่อภาวะจุลินทรีย์ในลำไส้สมดุลก็อาจช่วยบรรเทาอาการผิดปกติต่าง ๆ ทั้งยังช่วยเสริมภูมิต้านทาน ลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคบางชนิด

ความปลอดภัยของโพรไบโอติก

ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกในรูปแบบอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมค่อนข้างมีความปลอดภัยต่อผู้ที่รับประทาน คนที่มีสุขภาพแข็งแรงจึงไม่ค่อยเกิดผลข้างเคียงรุนแรง ส่วนใหญ่มักเป็นอาการในระบบทางเดินอาหารเพียงเล็กน้อย เช่น มีแก๊สในระบบทางเดินอาหารมาก แต่ก็ยังพบรายงานผลข้างเคียงร้ายแรงอย่างการติดเชื้อรุนแรงในรายที่มีปัญหาด้านสุขภาพซ่อนอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด เด็กเล็กที่ป่วยหนัก หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ 

สุดท้ายนี้ นอกจากการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกและพรีไบโอติก เพื่อรักษาสมดุลลำไส้ ระบบทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันแล้ว การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ชนิดอื่น ๆ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ และทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียด ก็มีส่วนช่วยรักษาสมดุลของโพรไบโอติกภายในร่างกายได้อีกทาง ซึ่งส่งผลให้สุขภาพแข็งแรงจากภายในสู่ภายนอกอย่างแท้จริง

เนื้อหาจาก: https://www.pobpad.com/

ติดตามอ่านต่อได้ที่  pattayacentrehotel.net