ลุยน้ำย่ำโคลน เสี่ยงป่วยโรคฉี่หนู

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังและเกษตรกรที่ต้องลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำนานๆ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้ฉี่หนูที่มาพร้อมกับน้ำท่วมขัง

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีหลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ที่เกิดน้ำท่วมรอบใหม่ และยังมีบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ แม้ปัจจุบันระดับน้ำจะลดลง อย่างต่อเนื่อง แต่หากประชาชนเดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่า อาจทำให้เชื้อไข้ฉี่หนูเข้าสู่ร่างกายได้

สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 พฤศจิกายน 2565 พบผู้ป่วย 2,990 ราย เสียชีวิต 36 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 45-54 ปี (19.23%) รองลงมา คือ 55-64 ปี (17.73 %) และ 35-44 ปี (16.99%) ตามลำดับ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรร้อยละ 41 และรับจ้างร้อยละ 27 โดยพื้นที่ที่พบอัตราป่วยสูงสุด

ได้แก่ ภาคใต้ รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ตามลำดับ ซึ่งโรคนี้จะพบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปราที่ปนออกมากับปัสสาวะของสัตว์นำโรค

เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข เมื่อเชื้อถูกขับออกมาจะไหลลงสู่แหล่งน้ำ หนองน้ำ หรือบริเวณที่เป็นดินชื้นแฉะ โดยเชื้อจะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นเดือน ขึ้นกับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงที่มีฝนตกหนัก น้ำฝนจะชะล้างเชื้อจากปัสสาวะของสัตว์ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมไหลลงสู่แหล่งน้ำหรือแอ่งน้ำขัง ประชาชนส่วนใหญ่มักจะติดเชื้อจากการสัมผัสกับน้ำหรือดินโคลนที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเชื้อสามารถไชเข้าทางผิวหนังที่อ่อนนุ่ม มีแผล หรือผ่านทางเยื่อบุตา จมูก และปาก จากการลงแช่น้ำ ลุยน้ำ ย่ำดินโคลน โดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน

หลังจากติดเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ต่อมาอาจมีตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะออกน้อย ไอเป็นเลือด จนเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งอาการระยะแรกจะคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หากผู้ป่วยซื้อยามารับประทานเองหรือเข้ารับการรักษาล่าช้า ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้

คำแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันโรคไข้ฉี่หนู มีดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง ขณะลุยน้ำท่วมขัง ย่ำดินชื้นแฉะ หรือทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด

2.หลังลุยน้ำย่ำโคลนหรือลงแช่น้ำ ให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที

3.หากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัวหรือปวดกล้ามเนื้อ หลังลุยน้ำย่ำโคลนหรือลงแช่น้ำ 1-2 สัปดาห์ อย่าซื้อยามารับประทานเอง ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดและแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ จะช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ หากเข้ารับการรักษาภายใน 1-2 วัน หลังเริ่มป่วย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ติดตามบทความและข่าวสุขภาพที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้ที่ pattayacentrehotel.net